เหล็กเบาไร้มาตรฐานเกลื่อนตลาด จับเท่าไหร่ก็ไม่หมด-ผู้ใช้ขอเอี่ยวเปิดประมูลของกลาง



อุตสาหกรรม เหล็กข้องใจ เหล็กเบาไม่ได้มาตรฐานยังเกลื่อนตลาดถึง 35%

จากตัวเลขจับกุมของกรมโรงงานฯทั้งหมดกว่า 3,000 ตัน หวั่นเกิดกระบวนการ "เวียนเทียน" ลักลอบนำเหล็กเบากลับมาขายใหม่ เหตุไม่มีใครรู้ว่าโรงงานทำลายเหล็กไม่ได้มาตรฐานจริงหรือไม่ แนะกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดประมูลของกลางที่จับกุมมาได้ แล้วนำเงินเข้ากองทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการปราบปรามเหล็กเบาให้สิ้นซาก



หล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเหล็กกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้วงการค้าเหล็กกำลังจับตามีเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่ไม่ได้มาตรฐาน (เหล็กเบา) กระจายอยู่ในตลาดสูงถึงร้อยละ 35 หรือประมาณ 10 ล้านตัน (กำลังผลิตในประเทศทั้งหมด 15-16 ล้านตัน) โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ผู้บริโภคอาจจะยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจในอุปกรณ์ก่อสร้างมากพอ 

ประกอบกับผู้รับเหมาเองก็ต้องการลดต้นทุนการก่อสร้างจึงหันมาใช้เหล็กเบามากขึ้น เมื่อเทียบต้นทุนเหล็กที่ได้มาตรฐานกับเหล็กเบาในปัจจุบันจะพบว่า เหล็กเส้นเต็มน้ำหนักอยู่ที่ 20 กิโลกรัม/เส้น 

มีราคาที่ 440 บาท (หรือราคาที่ 22 บาท/กิโลกรัม) ในขณะที่เหล็กเบา น้ำหนักจะอยู่ที่ 15 กิโลกรัมเท่านั้น แต่ก็อ้างว่าเป็นเหล็กได้มาตรฐานและมีราคาต่ำกว่า อยู่ที่ราคาไม่เกิน 300 บาท เท่ากับผู้รับเหมาจะได้กำไรส่วนต่างจากน้ำหนักเหล็กดังกล่าวสูงถึงเกือบ 100 บาท/เส้น จึงทำให้ผู้รับเหมาบางส่วนเลือกใช้เหล็กเบาแทน

อย่างไรก็ตามปริมาณเหล็กเบาที่ไม่ได้มาตรฐานอาจจะวัดได้จากตัวเลขการจับกุมเหล็กไม่ได้มาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวมกว่า 2,000-3,000 ตัน ซึ่งถือว่า "เป็นปริมาณที่สูงมาก" จนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการค้าเหล็กว่า รัฐมีบุคลากรเพียงพอที่จะดำเนินการยึดเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานและตรวจสอบการทำลายเหล็กเบาทั้งหมดได้หรือไม่ ในประเด็นนี้กลายมาเป็นข้อสงสัยว่า อาจจะมีการลักลอบนำเหล็กเบาไม่ได้มาตรฐานกลับเข้ามาจำหน่ายในตลาดอีก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีทั้งกฎหมายและเครื่องมือที่จะเข้มงวดมากขึ้นเพื่อมากำกับดูแลและแก้ปัญหา

"ช่วงที่มีเหล็กราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาดในไทย ทำให้เหล็กเบาลดจำนวนลงไปส่วนหนึ่ง แต่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศต้องการให้เหล็กเบาหมดไปจากตลาดจนเป็นศูนย์ เพราะไม่เพียงแต่เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างได้มาตรฐานและไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น อาคารถล่มด้วย" 

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กได้พยายามผลักดันให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้สามารถจัดการเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่ไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่ต้นทางแบบเด็ดขาดด้วยการ 1)เมื่อมีการเข้าจับกุมโรงงานที่ผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว จะต้องดำเนินการยึดเหล็กดังกล่าวให้เป็นของราชการทันที จากเดิมที่กฎหมายระบุเพียงเจ้าของต้องทำลายเหล็กทิ้งเพื่อไม่ให้ไปใช้สำหรับก่อสร้างได้อีก ซึ่งในทางปฏิบัติอาจไม่มีการทำลายทิ้งและลักลอบนำออกขายใหม่

2)เมื่อยึดเหล็กไม่ได้มาตรฐานเป็นของกลางแล้ว สมอ.จะต้องดำเนินการขนย้ายเพื่อเป็นผู้ทำลายเอง และต้องจัดเตรียมโกดังไว้รองรับเหล็กที่ยึดมาได้ และ 3)การทำลายเหล็กต้องตัดเป็นท่อน ๆ ให้พร้อมนำไปหลอมใหม่ได้ โดยอาจจะมีการเปิดประมูลให้โรงงานเหล็กที่สนใจ นำเหล็กดังกล่าวไปหลอมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้หน่วยงานรัฐเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติม

ทั้งนี้รายได้ที่มาจากการประมูลเหล็กเส้นดังกล่าว สมอ.ควรดำเนินการจัดตั้งเป็น "กองทุน" เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่าย

สำหรับการดำเนินการ เช่น การให้รางวัลนำจับหรือการเช่าโกดัง รวมไปถึงการจัดหาบุคลากรเข้ามาดำเนินการมากขึ้น
เพราะปัจจุบันบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรมน้อยมากที่จะเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้ 

"เมื่อเข้าจับกุมผู้ผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานแล้ว ควรยึดเป็นของหลวง ยกตัวอย่าง ยึดเหล็กได้ 100 ตัน คิดแบบราคาต่ำ ๆ เลยหากว่ามีการจำหน่ายต่อเพื่อนำไปหลอมใหม่จะอยู่ที่ 15,000 บาท รวมเป็นรายได้ก็ 1.5 ล้านบาท จริง ๆ แล้วเหล็กเบาเหล่านี้ก็คือเศษเหล็กชั้นดี คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

เช่น ค่าตัดเหล็ก ค่าเช่าโกดัง ค่าขนส่งเต็มที่ก็แค่ 20% เท่านั้น ในปี 2555 มีการออกข่าวตรวจจับกุมโรงงานที่ผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานก็วุ่นวายกันสักพักแล้วก็เงียบไป ควรจะปัดฝุ่นเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมได้มาก"

แหล่งข่าวกล่าวเสริมว่า จนถึงขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้มีการผลักดันข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ในการประชุมร่วมกันครั้งล่าสุดยังคงไม่สามารถสรุปในประเด็นในขั้นตอนการทำลายเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น ควรตัดที่ระดับความยาวเท่าไหร่ เช่น ที่ความยาว 1 เมตร หรือ 2 เมตร (จากความยาวมาตรฐานที่ 10-12 เมตร)

สำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจัดอยู่ในมาตรฐานอุตสาหกรรมแบบบังคับ หากผลิตไม่ได้ตามที่มาตรฐานกำหนดและนำออกมาจำหน่ายในตลาดจะมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา โทษตั้งแต่โทษปรับจนถึงจำคุก


cr.
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1398150957