โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก กับโครงสร้างเหล็ก อะไรเหมาะกับบ้านคุณ ตอน 3



ด้านการบริหารจัดการก่อสร้าง

คอนกรีต:  ในกระบวนการผลิตงานโครงสร้างอาคารแบบคอนกรีตหล่อแบบนั้น ต้องใช้เวลาในการหล่อแบบและบ่มคอนกรีตราว 50 % ของเวลาก่อสร้างโครงสร้าง เนื่องจากในการหล่อแบบและบ่มคอนกรีตต้องอาศัยเวลาที่เหมาะสมในการเซ็ตตัวซึ่งการเซ็ตตัวที่ดีของคอนกรีตนั้นจะมีผลต่อความคงทนถาวรของตัวโครงสร้างเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้เจ้าของบ้านต้องเชื่อใจว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างจะไม่ลดขั้นตอนในการบ่มและหล่อคอนกรีต นอกจากนั้นการจะหล่อและบ่มคอนกรีตก็ยังไม่สามารถทำได้ในช่วงที่ฝนตก ทำให้การบริหารงานก่อสร้างจะต้องขึ้นอยู่กับลมฟ้าอากาศ และความสามารถของช่างพอสมควร
แต่ในปัจจุบันงานคอนกรีตไม่ได้ยุ่งยากเช่นในอดีตอีกต่อไปแล้วเมื่อในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการในเรื่องของเวลา เช่น คอนกรีตหล่อสำเร็จจากโรงงานที่สามารถนำมาติดตั้งหน้างานได้ทันที นอกจากนี้ ด้วยทักษะความชำนาญของช่างไทยที่คุ้นเคยกับงานคอนกรีตมาเป็นเวลานาน จึงทำให้สามารถควบคุมคุณภาพงานคอนกรีตได้
เหล็ก:  ส่วนโครงสร้างเหล็กนั้นได้เปรียบในเรื่องการติดตั้งและรื้อถอน เนื่องจากโครงสร้างเหล็กจะทำการประกอบชิ้นส่วนจากโรงงาน ก่อนนำมาติดตั้งหน้างานด้วยการเชื่อมหรือยึดน๊อตภายในเวลาอันรวดเร็ว  ทำให้สามารถควบคุมเวลาการก่อสร้างได้ง่ายกว่า ซึ่งเห็นได้จากการก่อสร้างใหญ่ๆ เช่น สะพานหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ จึงช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพงาน แต่จุดอ่อนสำคัญกลับเป็นเรื่องของทักษะฝีมือของช่างเหล็กในบ้านเราที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ยังมีอยู่เป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับช่างเหล็กในต่างประเทศที่คุ้ยเคยกับงานเหล็กมาก่อน
ทั้งนี้ งานก่อสร้างจะดำเนินไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของผู้ควบคุมงานก่อสร้าง รวมไปถึงทีมช่าง เพราะฉะนั้นหากเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก อาจจะต้องมีการสอบถามกับทางผู้ควบคุมว่าเคยผ่านงานเหล็กมาก่อนหรือไม่ ทีมช่างมีความชำนาญในด้านนี้มากน้อยเพียง ป้องกันปัญหารับงานแล้วแต่ไม่สามารถทำงานได้จริง
สรุป: 
การควบคุมระยะเวลาการก่อสร้าง – โครงสร้างเหล็กดีกว่า
ความชำนาญงานของช่าง – ขึ้นอยู่กับผู้รับเหมาแต่ละเจ้าว่ามีความถนัดในการทำโครงสร้างแบบไหน
 

การดูแลรักษา

ในส่วนของการดูแลรักษานั้น วัสดุโครงสร้างทั้งสองประเภทต่างก็ต้องมีการดูแลรักษาเพื่อให้คงอายุใช้งานในระยะยาว ต่างวัสดุ ต่างประเภทจึงต้องมีการดูแลรักษาที่แตกต่างกันไป
คอนกรีต : แม้ว่าคอนกรีตได้เปรียบในเรื่องของความคงทนแข็งแรงก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กก็สามารถแตกร้าวได้หากไม่ป้องกัน สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการแตกร้าวสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหต เช่น การขยายและหดตัวจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง การทรุดตัวไม่เท่ากันของตัวอาคารและโครงสร้าง การรับน้ำหนักมากเกินไปของตัวโครงสร้าง เกิดสนิมเหล็กเสริมภายใน สำหรับวิธีการซ่อมรอยร้าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การประสานรอยร้าวด้วยกาว epoxy ซึ่งมีแรงยึดเกาะคอนกรีตสูงเป็นพิเศษ สามารถยึดติดรอยร้าวให้เป็นเนื้อเดียวได้อย่างแนบสนิท โดยช่างจะฉีดกาวชนิดนี้เข้าไปในรอยร้าวคอนกรีต จากนั้นกาวจะเข้าไปยึดเนื้อคอนกรีตที่แตกร้าวประสานเป็นเนื้อเดียวกัน
โดยมากแล้ว หากการก่อสร้างและการใช้งานอาคารคอนกรีตเป็นไปตามมาตรฐาน การดูแลรักษาก็มักจะทำไปเพื่อความสวยไม่ใช่เพื่อคงไว้ซึ่งความแข็งแรง
เหล็ก :  อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่าจุดอ่อนสำคัญของโครงสร้างเหล็กคือเรื่องของความร้อนและสนิม ทำให้ในการดูแลรักษาจึงต้องเน้นหนักไปทีเรื่องของการป้องกันไฟ และป้องกันการกัดกร่อนจากสนิม โดยจะต้องมีการกำหนดเวลาในการตรวจตราและซ่อมแซมอย่างสม่ำเสมอ ในต่างประเทศมีการกำหนดไว้อย่างเข้มงวดว่าเหล็กที่จะนำมาใช้ในโครงสร้างจะต้องมีมาตรการป้องกันไฟและสนิมพิเศษโดยกำหนดให้จะต้องทำการเคลือบสารป้องกันไฟ รวมไปถึงการป้องกันรอยแตกร้าวบริเวณรอยต่อกับผิวปูนฉาบเพื่อไม่ให้ความชื้นเข้าไปยังโครงเหล็กข้างในได้
ในประเทศไทย เอกเขนกไม่แน่ใจว่ามีกฏหมายป้องกันหรือรองรับเรื่องนี้โดยเฉพาะหรือเปล่า  แต่เท่าที่ทราบสถาปนิกที่ทราบถึงจุดอ่อนของเหล็กและมีมาตรการป้องกันส่วนนี้เช่นเดียวกับต่างประเทศ
นอกจากนี้สำหรับบ้านที่ปลูกสร้างริมทะเลอาจประสบปัญหาไอเค็มกัดกร่อนเนื้อเหล็กได้ หากปล่อยทิ้งไว้เนื้อเหล็กจะค่อยๆ ถูกทำลายซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อโครงสร้างได้ แต่ก็สามารถเลือกโครงสร้างเหล็กได้เช่นกัน หากหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้า  เช่น การเคลือบผิวเหล็ก การทาสีป้องกันสนิมปัองกันไม่ให้เนื้อเหล็กสัมผัสน้ำและอากาศโดยตรงซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสนิมได้มากที่สุด แต่ข้อเสียของวิธีการดังกล่าวคือ หลุดล่อนได้ง่าย
อีกวิธีหนึ่งในการป้องกันสนิมคือคือการพ่นโฟมหรือฉนวนกันสนิมตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง โดยโฟมหรือฉนวนนี้มีสารที่ชื่อว่าโพลียูรีเทน คุณสมบัติเด่นคือ ไม่หลุดล่อนง่าย สามารถยึดติดกับทุกวัสดุยกเว้นพลาสติกเท่านั้น เนื้อโฟมจะประสานเข้ากับผิวเหล็กไปตลอด หนำซ้ำโฟมกันสนิมนี้ยังทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย
 
บริษัทริจิดโฟม อินซูเลชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับพ่นโฟมกันสนิม กันร้อน กันเสียงให้กับอาคารสิ่งปลูกสร้าง โรงงานต่างๆ ให้ข้อมูลกับเอกเขนกว่า ข้อดีของโฟมกันสนิมนี้อายุการใช้งานตลอดไป ไม่มีการเสื่อมสลายหากมีการพ่นภายในเท่านั้น หากต้องพ่นภายนอก เช่น หลังคาหรือเสาเหล็กเปลือย จะต้องโค้ททับด้วยเซรามิค โค้ททับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งวัสดุปิดทับตัวนี้มีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี จึงจะค่อยๆ เสื่อมคุณภาพลง
 
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการพ่นโฟมนั้นอยู่ในราคา 250 บาท/ต.ร.เมตร ทั้งนี้ราคาจะยืดหยุ่นตามความยากง่ายของหน้างานด้วย เช่น ถ้าเป็นบ้านที่กำลังก่อสร้างอยู่จะคิดในราคา 250 บาท/ต.ร.เมตร แต่หากเป็นบ้านที่มีการเข้าอยู่อาศัยแล้วจะคิดในราคา 280-300 ต.ร.เมตรเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันละอองโฟมที่จะลอยไปติดสิ่งของต่างๆ ภายในบ้าน ส่วนเซรามิค โค้ทจะคิดราคา 190 บาท/ต.ร.เมตร แต่หากพื้นผิวที่ทำการพ่นทับสกปรกเช่น หลังคาที่ตะไคร่น้ำ จะต้องทำการขัดล้างทำความสะอาดเสียก่อนซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนนี้เข้ามา แต่หากเป็นพื้นผิวเหล็กเพียงปัดเช็คทั่วไปก็สามารถทำการพ่นและโค้ททับได้เลยทันที
 
สุดท้ายทางริจิดโฟมฯ แนะนำให้เจ้าของบ้านที่คิดจะสร้างบ้านและกำลังเป็นกังวลกับปัญหาสนิมเหล็กที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตหากเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก ควรทำการพ่นโฟมกันสนิมหลังจากงานโครงสร้างเสร็จแล้วก่อนที่จะทำดำเนินการในส่วนอื่นๆ ต่อไป 
สรุป:
ด้านการดูแลรักษา : โครงสร้างคอนกรีตมีวิธีดูแลรักษาได้ง่ายกว่าและถูกกว่าโครงเหล็ก ทั้งยังมีวิธีแก้ไขที่ไม่ยุ่งยาก รวดเร็วกว่า