การปรับปรุงประสิทธิภาพการก่อสร้าง

การปรับปรุงประสิทธิภาพการก่อสร้าง
จาก : หนังสือโยธาสาร ปี 2538
ดร. ประพนธ์ ผาสุขยึด
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคิว ซิสเต็มส์ จำกัด
ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในงานก่อสร้างกันอย่างกว้างขวาง การพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆมักจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางด้านราคาและเวลาเป็นหลัก คือ เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้นหรือทำให้ราคาถูกลง ในบางครั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้อาจจะไม่ได้มาจากเหตุผลดังกล่าว หากแต่เป็นเพราะความจำเป็น เนื่องจากเหตุผลทางกายภาพ เช่น สภาพของพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างอาคารข้างเคียง หรือเหตุผลทางด้านสภาวะแวดล้อมตลอดจนปัญหาทางด้านการจราจร เป็นต้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในงานก่อสร้างโดยมากมักจะพิจารณาเป็นส่วนๆ ไป เช่น ในส่วนของวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่ง ก็มีการสรรหาวัสดุใหม่ๆ ที่มีความแข็งแรงคงทน รับน้ำหนักได้ดี ตลอดจนมีความสวยงามมาใช้ ในส่วนของเครื่องมือ เครื่องจักรกลก็มีการนำเอาเครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้ เช่น เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในงานสำรวจ รถขุดรุ่นใหม่ปั๊มคอนกรีต เป็นต้น โดยที่วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้นนั่นเอง ปัญหาที่พบในวงการก่อสร้างไทยในปัจจุบันมิใช่เรื่องของความล้าหลังทางด้านเทคโนโลยี หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเหมาะสมในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านั้นมาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้นั้นสอดคล้องกันหรือส่งเสริมกันเพียงใดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความพร้อมขององค์กรในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านั้นมาใช้บทความนี้เป็นการนำเสนอแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพงานก่อสร้าง ในทิศทางที่ค่อนข้างจะสวนทางกับแนวทางที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน คือ แทนที่จะเป็นพิจารณาจากภายนอกมุ่งเข้าสู่ภายในอันได้แก่ การนำเทคโนโลยีที่เห็นว่าเหมาะสมเข้ามาใช้ในองค์กรกลับเป็นการเริ่มต้นจากภายในองค์กร โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงในส่วนของกระบวนการทำงาน และการพัฒนาบุคลากรเป็นสำคัญ
การปรับปรุงประสิทธิภาพงานก่อสร้างควรจะเริ่มจากการประเมินสถานภาพในองค์กรแล้วดำเนินการปรับปรุง ทั้งในส่วนของกระบวนการทำงานและการพัฒนาบุคลากรควบคู่กันไปกับการปรับปรุงกระบวนการทำงานเป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างถึงแก่น คือเป็นการบังคับให้มองลึกลงไปถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นและดำเนินการแก้ไข เพื่อไม่ให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นอีก ส่วนการพัฒนาบุคลากรเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพการพัฒนาบุคลากรนั้นจะต้องทำอย่างเป็นระบบ คือ จะต้องเริ่มจากการศึกษา วิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์กร เพื่อให้ ได้รู้ว่าองค์กรจะก้าวเดินไปในทางใด มีเป้าหมายในการทำธุรกิจอย่างไร และเพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายนั้น จะต้องอาศัยทรัพยากรบุคคลประเภทใด ต้องมีความรู้ความสามารถหรือความชำนาญด้านใดบ้าง หลังจากนั้นจึงทำการประเมินความรู้ความสามารถของบุคลากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจะได้รู้ว่าควรจะมีการพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรอย่างไร การปรับปรุงกระบวนการทำงานและการพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบผู้บริหารองค์กรโดยตรง การนำหลักการทั้งสองนี้มาใช้ในงานก่อสร้าง จะเป็นหนทางสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพภายในองค์กร ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบสำหรับการทำธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์นี้
http://www.thaiengineering.com/2015/index.php/article/construction-knowledge/item/446-improvement-of-construction